เกี่ยวกับ ไหมจุล
กว่าจะเป็นไหมจุล
กว่า 8 ทศวรรษที่ผ่านมา หรือ ปี พ.ศ. 2480 บริษัทเคยเป็นที่รู้จักในนาม บริษัท ไร่นายจุล คุ้นวงศ์ จำกัด โดยกำนันจุล คุ้นวงศ์ ได้พาครอบครัวพร้อมเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะมาทำการเกษตรที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยใจรักงานด้านการเกษตร ประกอบกับเป็นผู้ที่ชื่นชอบเดินทางไปยังทุกภาคของประเทศ จึงทำให้เข้าใจถึงธรรมชาติ และภูมิประเทศของประเทศไทยเป็นอย่างดี และเห็นว่าจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เหมาะสมที่จะทำการเกษตร เนื่องจากที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นพื้นที่ที่เรียกว่า “น้ำไหลทรายมูล” คือน้ำจะพัดพาเอาความอุดมสมบูรณ์ของดินมารวมไว้ ประกอบกับพบว่ามีแหล่งน้ำซับขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหลซึมมาจากใต้ดินตลอดทั้งปี ทำให้กำนันจุลตัดสินใจลงหลักปักฐานที่นี่ และด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ ในที่สุดฝันก็เป็นจริง ทำให้จังหวัดเพชรบูรณ์กลายเป็นพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานรายใหญ่ที่สุดของประเทศในขณะนั้น
กำนันจุลเป็นคนมีอัธยาศัยดี ใจกว้าง รักการทำงานแบบกลุ่ม ทำให้ชื่อเสียงของส้มเขียวหวานจากไร่ส้มกำนันจุลในขณะนั้น ได้เลื่องลือถึงรสชาดหวานชวนติดใจ และไม่แพ้กับสิ่งที่กำนันจุลได้อุทิศให้แก่ส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นในวงการศึกษา การจ้างแรงงานท้องถิ่น และสาธารณะประโยชน์ และยังได้มีส่วนในการพัฒนาบุคคลากรในวงการเกษตรเป็นจำนวนมาก ด้วยการสอน และให้กำลังใจแก่ทุกคนได้ดำเนินชีวิตในทางที่ถูก สอนให้อดทน และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยมีอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง เสริมสร้างเศรษฐกิจ ให้แก่ชุมชน และเกษตรกร จนในปีพ.ศ. 2504 กำนันจุล คุ้นวงศ์ ได้รับพระราชทานปริญญาด้านกสิกรรม และสัตวบาลบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับเป็นเกษตรกรไทยคนแรกที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์นี้
พระมหากรุณาธิคุณ
ในปีพ.ศ. 2507 ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมไร่ส้มเขียวหวานกำนันจุล ที่เพชรบูรณ์ ทรงตรัสชื่นชมผลงานของกำนันจุล และครอบครัวที่มีความวิริยะ อุตสาหะช่วยกันทำการเกษตรอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และงานของกำนันจุลเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ในหลวงทรงตรัสถามว่า “แล้วฉันจะช่วยอะไรกำนันจุลได้บ้าง” กำนันจุลจึงกราบทูลว่า “ทุกอย่างมีพร้อมแล้วพะย่ะค่ะ ยกเว้นรถ Caterpillar D8” (แทรกเตอร์ตีนตะขาบ)
หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จกลับได้ 59 วัน ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2508 รถ Caterpillar D8 ก็ได้เดินทางมาถึงไร่กำนันจุล สร้างความปลาบปลื้มแก่ครอบครัวกำนันจุลเป็นล้นพ้น ดังนั้นเพื่อให้คนรุ่นหลัง ได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระเมตตา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้วันที่ 21 มกราคมของทุกปี กลายเป็นวันสำคัญ เรียกกันว่าเป็นวัน “Home Coming Day” บริษัทจะให้พนักงานหยุดงานครึ่งวัน เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านต่อไร่กำนันจุล รถ Caterpillar D8 คันนี้อยู่เบื้องหลังการเจริญเติบโต และความสำเร็จของไร่กำนันจุล เป็นเวลากว่า 40 ปี โดยได้ใช้ก่อสร้างแหล่งเก็บน้ำจำนวนมากมายหลายแห่ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรของไร่กำนันจุลตลอดมา
ในปี พ.ศ. 2510 ได้เกิดวิกฤตโรครากเน่าระบาดในไร่ส้ม ต้นส้มล้มตายทั้งหมด ไม่มีทางแก้ไข หรือฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ กำนันจุลจึงเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ๆมาทดแทน โดยในครั้งนี้ได้คำนึงถึงหลักในการทำธุรกิจ 3 ประการ คือ
- ต้องเป็นอาชีพเกษตรที่มีอุตสาหกรรมรองรับ
- ต้องเป็นอาชีพ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนหมู่มาก
- ต้องเป็นอาชีพที่ทำได้ยาก จำเป็นต้องใช้ความพร้อมในทุกๆด้าน
หม่อน-ไหม อาชีพใหม่ของเรา
เมื่อไร่ส้ม ทำไม่ได้อีกแล้วครอบครัวคุ้นวงศ์ ได้พยายามศึกษาหาข้อมูล ให้ได้มาซึ่งอาชีพใหม่ และเห็นว่าอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและสาวไหม เป็นอาชีพที่เหมาะสม เพราะตรงกับหลักการในการทำธุรกิจของครอบครัว และกิจการที่น่าสนใจมากในขณะนั้นคือ การสาวไหมพันธุ์ลูกผสมโดยใช้เครื่องจักร เพื่อใช้เป็นไหมยืนสำหรับการทอผ้าไหม ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน ก่อนปี พ.ศ.2511 ประเทศไทยต้องนำเข้าเส้นไหมจากต่างประเทศมาผลิตผ้าไหม โดยเฉพาะเส้นไหมยืน โดยมีปริมาณการนำเข้า มากกว่าปีละ 400 ตัน จุลไหมไทยคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีนโยบายที่จะผลิตเส้นไหมยืน เพื่อทดแทนการนำเข้า จนในปี พ.ศ.2511 บริษัท จุลไหมไทย จำกัด ก็ได้ก่อตั้งขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และสาวไหม ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2514 บริษัทฯได้รับการส่งเสริมการลงทุนในฐานะผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรม ปลูกหม่อน และเลี้ยงไหมเป็นรายแรก
ไหมจุลกับการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง
การดำเนินธุรกิจในช่วง 15ปีแรก บริษัทได้ประสบกับอุปสรรคน้อยใหญ่นับครั้งไม่ถ้วน จนมีความเข้าใจ และเริ่มจับทิศทางของธุรกิจได้ กิจการจึงมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ในปัจจุบัน บริษัท จุลไหมไทย จำกัด เป็นศูนย์กลางของอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยได้ถ่ายทอดความรู้ และความชำนาญที่บริษัทมีอยู่ ให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศอย่างไม่ปิดบัง แทบจะกล่าวได้ว่า ใครก็ตามที่จะลงทุนประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จะต้องไปเริ่มต้นที่บริษัท จุลไหมไทย จำกัด ซึ่งจะให้การต้อนรับ และช่วยเหลืออย่างอบอุ่นเสมอมา ชื่อเสียง และการยอมรับนับถือในความสามารถของบริษัท จุลไหมไทย จำกัด ในด้านการช่วยเหลือให้การฝึกสอนผู้ที่ต้องการเริ่มอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้ประสบผลสำเร็จได้นี้ ได้รู้ไปถึง บริษัท FMO ชื่อเต็มคือ NEDERLANDSE FINANCIERINGS MAATSCHAPPIJ VOOR ONTWIKKELINGSLANDEN N.V. ซึ่งเป็นบริษัทการเงินที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ถือหุ้นใหญ่อยู่ 51%
ปีพ.ศ. 2529 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ จึงได้ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทฯในรูปแบบของเงินให้เปล่า (GRANT) เพื่อสนับสนุนให้บริษัทสามารถช่วยฝึกสอนอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศได้ในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเดิม และในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2530 “มูลนิธิจุลไหมไทย” ก็ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยงไหมแก่บุคคลที่สนใจทั่วไป ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
กว่าจะได้พันธุ์ไหม.....ที่ใครๆต้องการ
จากประสบการณ์ที่อยู่ในอาชีพนี้มาเป็นเวลานาน บริษัทฯพบว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ ล้วนแต่มีการลงทุนเพื่อผลิต “ไข่ไหม” ขึ้นใช้เอง เพราะจะได้พันธุ์ไหมที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของตน ดังนั้นในปี พ.ศ.2532 บริษัทฯได้ตัดสินใจร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น ก่อตั้งบริษัท จุลไทย แอคโกร-อินดัสตรีส์ จํากัด (CTA) ขึ้นเพื่อผลิตไข่ไหมคุณภาพสูงที่สามารถสนองความต้องการของผู้ใช้ทุกกลุ่ม กล่าวคือ เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น เพราะพันธุ์ไหมให้ผลผลิตสูง โรงงานสาวไหมได้คุณภาพของเส้นไหมดี สะอาด มีความเรียบสม่ำเสมอ โรงงานทอผ้าได้เส้นไหมที่มีความเหนียว เรียบ เงางาม ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นอย่างถูกขั้นตอน ทำให้บริษัท CTA ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในการผลิตสายพันธุ์ไหมลูกผสมต่างประเทศ ได้ถึง 5 สายพันธุ์ ที่มีความแข็งแรง ผลผลิตสูง แต่ละสายพันธุ์มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และภูมิอากาศที่แตกต่างกันในประเทศไทย และได้รับการสนองตอบอย่างดีจากผู้ใช้ไข่ไหม
ความรับผิดชอบต่อสังคม (Cooperate Social Responsibility)
ความตื่นตัวในการทำเกษตรอินทรีย์ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และแนวทางเดินในการพัฒนา เป็นการทำการเกษตรแบบยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ทั้งในเชิงการอนุรักษ์ และจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเหมาะสม และยั่งยืน จุลไหมไทย ตระหนัก และให้ความสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม และชุมชนโดยรอบ รวมทั้งใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
ปี พ.ศ. 2553 โครงการต้นกล้าอาชีพ 2 หลักสูตร คือ
- หลักสูตรการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และดูแลสวนหม่อน
- การสาวไหมคุณภาพสูงด้วยเครื่องจักร
ในปี พ.ศ.2557 มูลนิธิจุลไหมไทย ได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาไหมไทย ขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหม่อนไหม และผู้ทอผ้าไหม โดยทำการศึกษาวิจัย และนำความรู้ไปถ่ายทอด เพื่อพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพในการผลิตเส้นไหม ผ้าไหม เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาด
ได้มีการเซ็น MOU ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อร่วมกันส่งเสริมอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม (เพื่อหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกผู้เลี้ยงไหม)
ได้เข้าร่วมโครงการกำลังใจ ในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อฝึกสอนอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้กับผู้ต้องขัง เพื่อเป็นแนวทาง และเป็นอาชีพหลังจากพ้นโทษ
ในปี พ.ศ.2563 การลงนามข้อตกลงระหว่างทัณฑ์สถานเขาพริก โคราชและจุลไหมไทย อบรมหลักสูตรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและรับซื้อรังไหม